10 ข้อควรระวังในการใช้ Social Network Services เช่น Facebook Twitter ให้มั่นใจและปลอดภัย
ใน ปัจจุบันการใช้ Social Network นับเป็นการสื่อสารหรือสังคมออนไลน์ที่เริ่มมีความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ ดังนั้นการใช้สื่อหรือเครื่องมือในการสื่อสารประเภทนี้ จึงอาจต้องมาเหลียวหน้าเหลียวหลังดูกันว่า เราควรใช้กันอย่างไรถึงจะปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น เพื่อนบ้านเราท่านหนึ่ง ในช่วงหยุดหลาย ๆ วันนี้จะเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด จึงได้โพสต์บอกเพื่อน ๆ ที่สนิทในวงสนทนาออนไลน์ซะหน่อยจะได้รู้ ๆ กัน แถมช่วงไปเที่ยวก็ยังโพสต์รูปมาโชว์ให้เพื่อน ๆ ในกลุ่มให้เป็นที่อิจฉากัน ผลปรากฎว่าหลังกลับจากพักผ่อนหลายวันครั้งนี้ เพื่อนบ้านเราท่านนี้แทบจะเป็นลมเมื่อพบว่าบ้านถูกงัด ยกเค้าซะเรียบวุธ แถมพอนึกย้อนตนเองยังมีหน้าไปโพสต์บอกขโมยหรือโจรที่จ้องจะเข้างัดบ้าน ให้เข้ามาได้ถูกช่วงถูกเวลาซะอีก นึกแล้วเจ็บใจ ฉบับบนี้เราจะมาพูดกันถึง 10 ข้อ หลัก ๆ ควรระวังในการใช้สื่อหรือเครื่องมือประเภทสังคมออนไลน์ เช่น facebook, twitter หรืออื่น ๆ
1.ถ้ารักจะใช้ Social Network ก็ไม่ควรระบุ ข้อมูลส่วนตัวให้แสดงเกินความจำเป็น เช่น ว/ด/ป สถานที่เกิด เป็นต้น
ข้อมูลส่วนตัวที่สำคัญเหล่านี้ถือว่าเป็นช่องทางหนึ่งในการระบุตัวตนที่สำคัญอันหนึ่งทีเดียว บางคนอาจลงเพื่อให้เพื่อนรู้วันเกิดของเราและรู้สึกดีใจที่เพื่อน ๆ มาอวยพรวันเกิดให้เรา แม้จะอยู่ไกลกันคนละประเทศก็ตาม แต่ตรงนี้ควรพึงระวังอย่างยิ่ง มีผลดีก็ย่อมมีผลเสียไปในตัวพร้อม ๆ กัน ถ้าจำกันง่าย ๆ เวลาเขา verify หรือตรวจสอบตัวตนของเจ้าของบัตรเครดิต เวลาขอวงเงินเพิ่ม ขออนุมัติในการทำสิทธิต่าง ด้านธุรกรรมบัตรเครติด จะได้ยินเจ้าหน้าที่ถามกันบ่อย คือ ชื่อ นามสกุล วัน เดือน ปี เกิด เปิดบัญชีธนาคารกับธนาคารหรือไม่ ลองคิดดูสิครับ หากมีคนเก็บบัตรเราไปแล้วสวมสิทธ์ เพราะการเซ็นต์ชื่ออย่างที่เราทราบกัน สามารถปลอมแปลงกันได้แถมยังไม่ใคร่ใส่ใจเวลาเราเซ็นต์ชื่อกันเท่าไร ก็ลองคิดภาพต่อสิครับ มีรายงานจากสถาบัน Carnegie Mellon ได้ให้ข้อคิดว่าหากเราเปิดเผยข้อมูลเหล่านี้ก็เท่ากับเราเปิดประตูการเข้าถึงธุรกรรมด้านการเงินของบุคคลคนนั้นไปค่อนตัวแล้ว อีกเรื่องที่สำคัญคือเมื่อระบุ วันเดือน ปี เกิด เด็ก ๆ วัยรุ่นที่มีอายุน้อย ๆ ก็จะสามารถถูกล่อลวงได้ง่ายและเป็นจุดสนใจที่มิจฉาชีพสนใจ
2.วางแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยวที่ไหน อย่าง ไร เมื่อไร ไม่จำเป็นต้องบอกหรือแสดงเอาไว้ใน Wall หรือ New Feed
เมื่อไรก็ตามจะเดินทางไปพักผ่อนไม่ว่าไกลแค่ไหน ก็ไม่ควรเสนอข้อมูลล่วงหน้าไว้ให้ผู้ที่ไม่หวังดีกับเรา ได้รับทราบและวางแผนมาทำร้ายต่อบุคคลหรือทรัพย์สินของเรา เช่น “วันนี้ ไม่อยู่ ลาหยุดไปพักผ่อนกับครอบครัว ในวันสบาย ๆ กลับ 14 ธค. 53 นะค่ะ เพื่อน ๆ ” เท่านี้ก็รู้แล้ว ว่าเจ้าของบัญชีผู้ใช้นี้ไม่อยู่บ้าน ซึ่งบางครั้งมีถ่ายรูปในบ้าน สิ่งของต่าง ๆ ไว้ หรือมีของดีที่เอามาอวด มาโชว์ไว้ในเว็บ ก็เป็นจุดที่ดึงดูดความสนใจให้มิฉาชีพที่ไม่หวังดีกับเราติดตามพฤติกรรมของเราได้
3.ที่อยู่ บ้านที่ทำงาน ต่าง ๆ ไม่ควรนำมาแสดงไว้
ตรงไปตรงมาเลยครับ ถ้าคุณน้อยหน่า หน้าหว๊าน หวาน โพสต์ ไว้ว่า “ อาทิตย์นี้มาที่ลั้นลากันที่สมุย มาเลย ฟ้า สวย น้ำใส” หากผมเป็นโจรก็จะรู้เลยว่าคุณน้อยหน่าหน้า หว๊าน หวาน ไม่อยู่บ้านราวหนึ่งสับดาห์ แหมแถมยังระบุที่อยู่ไว้ให้เราอีก คิดดูครับว่าอะไรจะเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นไม่ควรอย่างยิ่ง ที่จะระบุที่อยู่โดยละเอียดไว้ในสื่อประเภทนี้ ซื้อบ้านซื้อคอนโด ด้วยความดีใจถ่ายพื้นที่ต่าง ๆ ในบ้านมาให้เพื่อน ๆ ดูและดีใจ แต่ระวังว่าอาจนำไปสู่ช่องทางการเข้าถึงภายในบ้านแบบไม่รู้ตัวด้วยนะครับ จะโพสต์อะไรก็ต้องคิดกันนิดนึงครับ
4.ความเสี่ยงด้านพฤติกรรมทางสังคม
ข้อนี้อาจมองเห็นภาพไม่ชัดเจน ความเสี่ยงทางด้านพฤติกรรมทางสังคมบางครั้งผลกระทบจะกระทบต่อลูกหลาน เพื่อนรอบข้าง หรือแม้กระทั่งตนเอง เช่น การลงข้อความความคิดเห็นเกี่ยวกับสิ่งเสพติด เหล้า บุหรี แม้ในโทรทัศน์จะมีการแบนด์กันให้เห็น แต่ในเครือข่ายสังคมออนไลน์ยังไม่มีให้เห็น ดังนั้นข้อเสียคือการโฆษณาโดยไม่มีการควบคุม เด็กหรือวัยรุ่นอาจเกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ ว่า สุรา เบียร์ บุหรี่ ยี่ห้อนี้ดีนะ อยากทดลองดูบ้าง อีกข้อหนึ่งซึ่งเริ่มมีตัวอย่างให้เห็นในต่างประเทศ มาเป็นบทเรียนให้เรารู้เท่าทันคือในเมื่อเราโพสต์ในเรื่อง ความเสี่ยงด้านพฤติกรรม บริษัทประกันสุขภาพหลาย ๆ บริษัทที่เราส่งเบี้ยประกันอยู่ จะขยันเข้ามาเก็บความเสี่ยงด้านพฤติกรรม ที่ผลต่อโรคต่าง ๆ ที่ผู้เอาประกันทำไว้ ทำให้ไม่สามารถเคลมประกันที่ตนเองส่งไว้ หรือถูกบริษัทประกันสุขภาพยกเลิกกรมทัณฑ์ประกันชีวิตประเภทนั้น ๆ ไป เนื่องจากตนเองได้สร้างหลักฐานด้านความเสี่ยงต่าง ๆ และเปิดเผยต่อสาธารณะไว้โดยไม่รู้ตัว
5.อย่าลืมว่าเมื่อเราสร้างบัญชีผู้ใช้ เท่ากับว่าเราให้ Password Clues ไปโดยไม่รู้ตัว
ทุกครั้งที่เราสร้างบัญชีขึ้นใหม่ อย่าลืมว่าพาสเวิร์ดที่เราตั้ง มักจะมีตัวช่วยในการจำ บางครั้งการเลือกใช้ สื่อสังคมออนไลน์นั้นอาจต้องเลือกชุมชนที่มีความปลอดภัย ไว้เนื้อ เชื่อใจ เพราะพาสเวิร์ดหนึ่งอันที่เราสร้าง จะเป็นตัวคาดเดารหัสความปลอดภัยในธุรกรรมอื่น ๆ ที่ซับซ้อนกว่าของเราได้โดยไม่ยากเท่าไร ดังนั้นควรรู้จักเลือกและใช้อย่างมีวิจารณญาณ
6.ที่จอดรถหรือกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทำเป็นประจำไม่ควรมาเผยแพร่ไว้
แน่นอนภัยร้าย เกิดได้ตลอดแต่ถ้าเราลดแหล่งข้อมูลที่สื่อออกไปลงบ้าง ชีวิตเราจะปลอดภัยมากขึ้น ทุกอย่างที่เราโพสต์เท่ากับเราบอกนิสัยของเราเข้าไปในสื่อเหล่านี้ ผู้ติดตามสามารถเฝ้าดูกิจกรรมของเรา หากจะโจรกรรมทรัพย์สิน รถหรือของมีค่าต่าง ๆ สามารถระบุตำแหน่งที่อยู่ประจำได้ ซึ่งจะทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยที่เราอาจคลาดไม่ถึงทีเดียว บางครั้งปิดตัวเองในบางเรื่องหรือบางโอกาสก็จะสร้างความเป็นส่วนตัวและปลอดภัยมากขึ้น Charles Pavelites, ผู้ชำนาญการพิเศษของหน่วยงาน ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์จากอาชญากรรมทางอินเตอร์เนต ได้ยกตัวอย่างเช่น มีเด็กคนหนึ่งมักจะบอกว่า "แม่กำลังจะกลับบ้านแล้ว เดี๋ยวฉันจะต้องไปล้างจาน" มักจะบอกทุก ๆ วัน ในเวลาเดิมเสมอ มันเป็นการบอกเวลาที่ชัดเจนมาก เกี่ยวกับการเดินทางไปกลับของผุ้ปกครอง
7.นำเรื่องขององค์กร บริษัท ข้อมูลทางการเงินไปโพสต์ไว้ในสังคมออนไลน์
หากมีการโพสต์ บ่น เกี่ยวกับการทำงาน โดยไม่จำเป็น ต้องระวังนะครับ เพราะหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงานสามารถเข้าถึงข้อมูลของราได้จากการที่เราเพิ่มเพื่อนโดยไม่ระมัดระวัง เพราะความลับไม่มีในโลก ดังนั้นโพสต์เท่าที่จำเป็นจะปลอดภัยกว่า
8.ไม่ระบุชื่อบุตรหลาน ระบุภาพหรือติด tag ในรูปภาพมากเกินไป
อาจทำให้สามารถเข้าถึงญาติสนิทมิตรสหายส่วนตัวของคุณได้โดยง่าย อันสร้างความไม่ปลอดภัยขึ้นในครอบครัวโดยไม่ได้ตั้งใจได้ ลด tag ลงบ้างจะปลอดภัยกว่านะครับ
9.การตั้งความเป็นส่วนตัว และการปล่อยให้ Facebook ค้นหาพบคุณได้จำกัดลงบ้าง
เพื่อป้องกันคนแปลกหน้าเข้าถึงหน้าข้อมูลของคุณ ให้ไปที่การค้นหาของ Facebook ให้เข้าไปตั้งที่ข้อมูลส่วนตัวและเลือกเฉพาะเพื่อนเท่านั้น ดังนั้นเพื่อนเท่านั้นที่จะค้นพบข้อมูลดังกล่าวและให้มั่นใจว่ากล่องข้อมูลสาธารณะไม่ได้ระบุให้เข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้
10.ไม่ควรให้เด็กใช้ Facebook โดยไม่ตรวจสอบควบคุม
แม้ว่า Facebook จะไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่าสิบสามขวบหรือยังไม่ถึงเกณฑ์ใช้งาน แต่หลายครั้งเด็ก ๆ ก็ทำการปลอมอายุเข้าไปใช้ได้ ถ้าคุณมีเด็กหรือวัยรุ่นในความปกครอง หากควบคุมไม่ได้ การใช้ Facebook วิธีการที่ดีที่สุดในกรณีนี้คือ ใช้เพื่อการตรวจสอบและควบคุมที่ดี ก็คือการที่คุณเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มเพี่อนของเขา หรือให้ใช้ email ของคุณแทนในการติดต่อระหว่างบัญชีของเขา เพื่อที่คุณจะได้รับข้อความหรือตรวจสอบการใช้งานของบุตรหลานได้อย่างต่อเนื่อง
สิบข้อเหล่านี้เป็นปัญหาที่พบบ่อย ๆ และหยิบยกมาเตือนชุมชนเครื่อข่ายสังคมออนไลน์ที่นิยมกันใช้กันมากในปัจจุบัน หากเราจะรับเพื่อนเพิ่มขอให้เช็คเสียก่อนให้ดี ๆ ว่าเป็นกลุ่มเราหรือไม่ ไม่ใช่เพียงแค่รูปร่างหน้าตาดีก็เพิ่มเข้ามา อย่าลืมว่าทุกครั้งที่เราส่งข่าวหรือโพสต์ข้อความ พึงระลึกว่าความเป็นส่วนตัวของเราก็จะน้อยลง ๆ ทุก ๆ นาที
อาจารย์นายแพทย์ ศักดา อาจองค์, พบ, บธบ.
อาจารย์, ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน
คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
SAKDA ARJ-ONG, MD, BBA, MSc. In ICT
PHD program of clinical epidemiology,
Pediatrist, Pediatric Cardiologist & Intervention Ped.Cardiology
Family physicians, Emergency physicians.
Emergency Medicine, Ramathibodi Hospital, Mahidol University
http://www.ra.mahidol.ac.th